การทดลองที่ 8 โครงสร้างผลึก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ
ปรับปรุงล่าสุด: 23 พฤษภาคม 2563

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาโครงสร้างผลึกแบบลูกบาศก์
  2. เพื่อฝึกทักษะการจัดเรียงแบบชิดที่สุดภายในโครงผลึก

หลักการ

ของแข็งสามารถจำแนกตามลักษณะของการจัดเรียงตัวของอนุภาคองค์ประกอบ (โมเลกุล อะตอม หรือไอออน) ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่

  • ของแข็งอสันฐาน (amorphous solid) มีลักษณะสำคัญคือการจัดเรียงตัวของอนุภาคองค์ประกอบไม่มีระเบียบแบบแผนที่แน่นอน เช่นแก้ว ไม้ ยาง ขี้ผึ้ง พลาสติกบางชนิด เป็นต้น
  • ของแข็งผลึก (crystalline solid) มีลักษณะสำคัญคือการจัดเรียงตัวของอนุภาคองค์ประกอบมีระเบียบแบบแผนที่แน่นอนทางเรขาคณิตในสามมิติมีด้านตัดกันเป็นเหลี่ยมมีมุมเฉพาะตัว แน่นอน ทำให้ผลึกของแข็งมีรูปทรงทางเลขาคณิตแตกต่างกันไปซึ่งเป็นผลทำให้สมบัติทางภาพแตกต่างกันด้วย เช่น การนำไฟฟ้า ดรรชนีหักเห จุดหลอมเหลว ความแข็ง ความเปราะ เป็นต้น

ในการศึกษาโครงสร้างของผลึก จะใช้จุดแสดงตำแหน่งของอนุภาคเหล่านั้นอนุภาคที่อยู่ตามจุดแต่ละจุดเรียกว่าอนุภาคหน่วย ในการศึกษาการจัดเรียงอนุภาคในผลึกนี้จะใช้ลูกปิงปองแทนตำแหน่งของอนุภาคหน่วยในผลึกในทิศทางต่าง ๆ โครงสร้างของอนุภาคนี้เรียกว่าโครงผลึก (crystal lattice)  ส่วนที่ซ้ำกันตลอดทั้งผลึกจะเป็นส่วนที่เล็กที่สุด  ซึ่งจะใช้ตัวแทนแสดงรูปแบบการจัดเรียงของอนุภาคในผลึกนั้น เรียกว่าเซลล์หน่วย (unit cell) โดยแต่ละเซลล์หน่วยจะเหมือนกัน เมื่อนำเซลล์หน่วยต่าง ๆ มาต่อเข้าด้วยกัน โดยต่อลูกปิงปองต่าง ๆ ในเซลล์หน่วยสามมิติ

เซลล์หน่วยมีด้วยกันหลายชนิดแต่ในการทดลองนี้จะศึกษาเฉพาะระบบผลึกลูกบาศก์ซึ่งได้แก่

  • แบบ simple cubic (SC) มีอนุภาคอยู่เฉพาะตรงมุมของเซลล์หน่วย
  • แบบ body-centered cubic (BCC) มีอนุภาคอยู่ที่มุมของเซลล์หน่วยและมีอีกหนึ่งอนุภาคอยู่ที่ตรงกลางของเซลล์หน่วย
  • แบบ fac-centered cubic (FCC) มีอนุภาคอยู่ที่มุมของเซลล์หน่วยและมีด้านหน้าทั้ง 6 ด้าน

 

ภาพที่ 8.1 เซลล์หน่วยแบบลูกบาศก์

การจัดเรียงตัวของอนุภาคในโครงผลึกอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดนั้น จะต้องมีปริมาตรที่ว่าง (void volume) เกิดขึ้นน้อยที่สุดในโครงผลึก นั่นคืออนุภาคต้องจัดเรียงในลักษณะที่มีการสัมผัสกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งทำให้เกิดโครงสร้างการบรรจุแบบชิดที่สุด (closest-packed pattern) ได้ 2 โครงสร้างคือ

  • โครงสร้างการบรรจุชิดที่สุดแบบเฮกซะโกนัล (hexagonal closest-packed, hcp) เป็นผลึกที่มีการจัดเรียงอนุภาคเป็นแบบ ABAB
  • โครงสร้างการบรรจุชิดที่สุดแบบลูกบาศก์ (cubic closest-packed, ccp) เป็นผลึกที่มีการจัดเรียงอนุภาคเป็นแบบ ABCABC

ภาพที่ 8.2 โครงสร้างการบรรจุชิดที่สุดแบบ hcp และ ccp

ในการจัดเรียงอนุภาคการบรรจุแบบชิดที่สุดของโครงสร้างผลึกทั้ง 2 แบบดังกล่าวทำให้จำนวนอนุภาคที่อยู่ชิดกันมากที่สุดของแต่ละอนุภาคในโครงสร้างผลึกซึ่งเรียกว่าเลขโคออร์ดิเนชัน (coordination number) มีค่าเท่ากับ 12 และการบรรจุแบบชิดที่สุดนี้จะทำให้เกิดช่องว่างให้โครงผลึก 2 แบบคือ

  • ช่องว่างเททระฮีดรัล (tetrahedral hole) เป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการเรียงทรงกลมสามลูกแบบชิดที่สุดบนระนาบเดียวกัน แล้ววางทรงกลมอีกลูกหนึ่งบนชั้นที่หนึ่ง โดยให้ศูนย์กลางของทรงกลมนี้ทับช่องที่เกิดจากทรงกลมทั้งสามของชั้นที่หนึ่ง ซึ่งถ้าโยงเส้นจากจุดศูนย์กลางของทรงกลมทั้งสี่จะได้รูปเททระฮีดรัลแบบปกติ (regular tetrahedron) และช่องว่างที่อยู่ตรงกลางรูปนี้เรียกว่า ช่องว่างเททระฮีดรัล (รูปสามเหลี่ยมด้านเท่าสี่หน้า)
  • ช่องว่างออกตะฮีดรัล (octahedral hole) เป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการเรียงทรงกลมสามลูกแบบชิดที่สุดในระนาบเดียวกัน แล้ววางทรงกลมอีกสามลูกแบบชิดที่สุดบนชั้นที่หนึ่ง โดยให้ทรงกลมแต่ละลูกของชั้นที่สองอยู่บนรอยสัมผัสแต่ละแห่งของชั้นหนึ่งและให้ช่องของทั้งสองที่เกิดขึ้นอยู่ในแนวเดียวกัน ซึ่งถ้าโยงเส้นระหว่างจุดศูนย์กลางของทรงกลมทั้งหก จะได้รูปออกตะฮีดรัลแบบปกติ (regular octahedral) และช่องว่างที่อยู่ตรงกลางรูปนี้เรียกว่าช่องว่างออกตะฮีดรัล

ภาพที่ 8.3 ช่องว่างเททระฮีดรัล และช่องว่างออกตะฮีดรัล

อุปกรณ์และสารเคมี

อุปกรณ์

  1. ลูกปิงปอง
  2. กาวร้อน

วิธีการทดลอง

ตอนที่ 1 โครงสร้างผลึกเซลล์หน่วยแบบลูกบาศก์ ทั้ง 3 แบบ

  1. ต่อลูกปิงปองเซลล์หน่วยแบบลูกบาศก์ ทั้ง 3 แบบ
  2. วาดรูปเซลล์หน่วยแบบลูกบาศก์ ทั้ง 3 แบบ
  3. คำนวณประสิทธิภาพการบรรจุ ทั้ง 3 แบบ

ตอนที่ 2 โครงสร้างการบรรจุชิดที่สุด

  1. ต่อลูกปิงปองโครงสร้างการบรรจุชิดที่สุดแบบเฮกซะโกนัล (hcp)
  2. ต่อลูกปิงปองโครงสร้างการบรรจุชิดที่สุดแบบลูกบาศก์ (ccp)