การทดลองที่ 12 การไทเทรตปฏิกิริยากรด-เบส

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ
ปรับปรุงล่าสุด: 23 พฤษภาคม 2563
[Lab Menu]

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อฝึกทักษาะการไทเทรตปฏิกิริยากรด-เบส

หลักการ

การไทเทรต (titration) คือกระบวนการหาปริมาณสารโดยวิธีใช้สารละลายมาตรฐานที่ทราบความเข้มข้นแน่นอนให้ทำปฏิกิริยากับสารตัวอย่าง โดยอาศัยหลักการเกิดปฏิกิริยาระหว่างสารที่บรรจุในบิวเรต เรียกว่า ตัวไทเทรต หรือ ไทแทรนต์ (titrant) กับสารละลายที่อยู่ในขวดรูปชมพู่ เรียกว่า ตัวถูกไทเทรต

การไทเทรตปฏิกิริยาระหว่างกรดกับเบส (acid-base titration) จึงเป็นการนำสารละลายกรดหรือเบสตัวอย่างที่ต้องการวิเคราะห์หาปริมาณมาทำการไทเทรตกับสารละลายมาตรฐานที่ทราบค่าความเข้มข้นแน่นอน กล่าวคือ ถ้าสารละลายตัวอย่างเป็นสารละลายกรด ก็ต้องใช้สารละลายมาตรฐานเป็นเบส นำมาทำการไทเทรต แล้วบันทึกปริมาตรของสารละลายมาตรฐานที่ใช้ในการทำปฏิกิริยาพอดีกัน จากนั้นนำไปคำนวณหาปริมาณของสารตัวอย่างต่อไป หรือทางตรงกันข้าม ถ้าใช้สารละลายตัวอย่างเป็นเบส ก็ต้องใช้สารละลายมาตรฐานเป็นกรด

ภาพที่ 12.1 การไทเทรตกรด-เบส. (ที่มา R. Belford. 2021. Acid-Base Titrations)

การหาปริมาณกรด (HA) ในสารละลายโดยการไทเทรตเป็นวิธีการนำสารละลายของกรดมาเติมอินดิเคเตอร์ที่เหมาะสมแล้วนำไปไทเทรตกับสารละลาย NaOH ก่อนถึงจุสมมูลจะมี HA เหลืออยู่และอินดิเคเตอร์จะแสดงสีที่อยู่ในรูปกรด หลังจากเติม NaOH ลงไป HA จะทำปฏิกิริยาและทำให้เกิด NaA จนกระทั่ง HA ถูกเปลี่ยนเป็น NaA หมดพอดี ที่จุดนี้เรียกว่า จุดสมมูล (equivalent point) ถ้าเติม NaOH ลงไปอีกเล็กน้อยก็จะทำให้สารละลายที่ได้เป็นเบส ซึ่งทำให้สีของอินดิเคเตอร์เปลี่ยนไปเป็นสีที่อยู่ในรูปเบส จุดที่อินดิเคเตอร์เปลี่ยนสีเรียกว่า จุดยุติ (end point)

ในการทดลองนี้เป็นการไทเทรตหาปริมาณกรดในน้ำส้มสายชูกลั่น น้ำส้มสายชูที่ผลิตขายในท้องตลาดมีอยู่สองประเภทคือ ประเภทที่หนึ่งเป็นน้ำส้มสายชูที่ได้จากการหมักพวกพืชตามวิธีโภชนาศาสตร์ ซึ่งจะมีกรดแอซีติก (acetic acid) สูตรเคมี CH3COOH เป็นองค์ประกอบใหญ่และมีสารอินทรีย์อื่น ๆ เจือปนอยู่ ส่วนอีกประเภทหนึ่งได้จากการนำกรดแอซีติกที่บริสุทธิ์มาทำการเจือจางด้วยน้ำให้มีความเข้มข้นร้อยละ 5 โดยน้ำหนักต่อปริมาตร ในการทดลองนี้เป็นการวิเคราะห์โดยวิธีไทเทรตของปฏิกิริยากรด เบส โดยใช้สารละลาย NaOH เป็นตัวไทเทรต และมีฟีนอล์ฟทาลีนเป็นอินดิเคเตอร์ จุดยุติของปฏิกิริยาจะเปลี่ยนจากสารละลายใสเป็นสีชมพูอ่อน การคำนวณปริมาณกรดจะคำนวณตามปริมาณสัมพันธ์ระหว่างกรดและเบส ดังสมการ

CH3COOH + NaOH  →  CH3COONa  + H2O

จากปฏิกิริยา               1 โมล  NaOH    ≡    1 โมล  CH3COOH

เมื่อ
V1 =  ปริมาตรของสารละลาย NaOH (mL)
V2 =  ปริมาตรของสารละลายน้ำส้มสายชู (mL)
M1 =  ความเข้มข้นของสารละลาย NaOH (mol/L)
M2 =  ความเข้มข้นของสารละลายตัวอย่าง (mol/L)
จำนวนโมลของ NaOH  =  M1V1 x10-3

อุปกรณ์และสารเคมี

อุปกรณ์

  1. บิวเรต
  2. ขวดรูปชมพู่
  3. ปิเปต
  4. กระบอกตวง

สารเคมี

  1. สารละลาย NaOH 0.10 mol/L
  2. ฟีนอล์ฟทาลีน 0.1 %w/v
  3. สารละลายน้ำส้มสายชูตัวอย่าง ปิเปตน้ำส้มสายชูตัวอย่างปริมาตร 10.00 mL ใส่ลงในขวดปริมาตรขนาด 250 mL แล้วเจือจางด้วยน้ำกลั่นจนถึงขีดบอกปริมาตร

วิธีการทดลอง

การไทเทรตหาปริมาณกรด (% น้ำหนักต่อปริมาตร) ในน้ำส้มสายชู

  1. ปิเปตน้ำส้มสายชูตัวอย่าง ปริมาตร 25.00 mL ใส่ลงในขวดรูปชมพู่ 250 mL
  2. เติมฟีนอล์ฟทาลีน 3 หยด
  3. นำไปไทเทรตกับสารละลาย NaOH จนกระทั่งสารละลายเปลี่ยนจากไม่มีสีเป็นสีชมพูอ่อนอย่างถาวร
  4. จดปริมาตรของสารละลาย NaOH ที่ใช้
  5. ทำการทดลองซ้ำอีก 2 ครั้ง