การทดลองที่ 1 ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ (Laboratory Safety)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ
ปรับปรุงล่าสุด: 1 มีนาคม 2564

วัตถุประสงค์

  • เพื่อฝึกทักษะด้านความปลอดภัยในการทำปฏิบัติการ

Download

หลักการ

สารเคมี

สารเคมี (reagent) หมายถึงสารประกอบอินทรีย์หรืออนินทรีย์ที่ทราบน้ำหนักสูตรโมเลกุลที่แน่นอนและมีความบริสุทธิ์เพียงพอที่ใช้กับงานวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำการทดสอบการวัดและการตรวจสอบค่าต่างๆ สารเคมีที่ผลิตขายมีความบริสุทธิ์ต่างๆ กัน และแบ่งเป็นหลายเกรดตามความบริสุทธิ์ของสาร

  1. เกรด ACS reagent เป็นเกรดที่มีความบริสุทธิ์สูงสุด และความบริสุทธิ์ได้มาตรฐานตามที่สมาคมเคมีอเมริกัน (American Chemical Society หรือ ACS) กำหนดไว้และมีใบประกันรับรองให้ เหมาะสำหรับใช้ในงานวิเคราะห์
  2. เกรดวิเคราะห์ (analytical reagent (AR)/reagent grade) เป็นเกรดที่มีความบริสุทธิ์สูงกว่า 99% มีมลทินเจือปนในระดับที่น้อยมาก โดยทั่วไปจะมีข้อมูลแสดงปริมาณสิ่งเจือปนไว้ด้วยและเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์และสิ่งเจือปนจะต้องอยู่ในมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ เหมาะสำหรับใช้ในงานด้านการวิเคราะห์และห้องปฏิบัติการทั่วไป ถ้าสารเคมีได้มาตรฐานตามที่สมาคมเคมีอเมริกัน (ACS) กำหนดไว้จะเขียนบ่งไว้ AR (ACS) reagent
  3. เกรด USP เป็นเกรดที่มีความบริสุทธิ์ได้มาตรฐานตามที่ U.S. Pharmacopoeia กำหนดไว้ เหมาะสำหรับใช้ในงานด้านอาหาร ยา ทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการทั่วไป สารเกรดโดยมีสารเจือปนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับ
  4. เกรด purified/practical grade เป็นเกรดที่มีคุณภาพดีแต่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ ไม่เหมาะใช้ในงานด้านอาหาร ยา ทางการแพทย์
  5. เกรด C.P. (chemical pure) รีเอเจนต์เกรดนี้บริสุทธิ์เกือบเทียบเท่าเกรดวิเคราะห์ (reagent grade) มาตรฐานของความบริสุทธิ์ของสารเคมีเกรดนี้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับโรงงานผู้ผลิต
  6. เกรดปฏิบัติการ (lab หรือ practical) เป็นสารเคมีที่มีเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์สูงกว่า 95% มีปริมาณสิ่งเจือปนมากกว่าเกรดงานวิเคราะห์ แต่บางครั้งสามารถใช้แทนสารเคมีเกรดวิเคราะห์ได้ หากมีเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์สูงพอและสิ่งเจือปนไม่มีผลต่อการทดลอง เหมาะสำหรับใช้ในงานที่ไม่ต้องคำนึงถึงความบริสุทธิ์ของสารเคมี
  7. เกรด NF เป็นเกรดที่มีความบริสุทธิ์ได้มาตรฐานตามที่ National Formulary (NF) กำหนด เหมาะสำหรับใช้ในงานที่ไม่ต้องคำนึงถึงความบริสุทธิ์ของสารเคมี จะมีสารเคมีอื่นเจือปน (impurities) อยู่ในปริมาณปานกลาง
  8. เกรดทางการค้า (technical หรือ commercial) เป็นสารเคมีที่ใช้งานอุตสาหกรรม จัดเป็นสารเคมีเกรดต่ำสามารถใช้ได้ดีกับงานทดลองบางอย่าง โดยปกติสารเคมีชนิดนี้ไม่บอกรายละเอียดของสิ่งเจือปน (impurity) หรือเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ของสารเคมี ไม่เหมาะใช้ในห้องปฏิบัติการ


ฉลากสารเคมี  

ผู้ใช้สารเคมีควรจะอ่านฉลากสารที่จะใช้ให้ดีเสียก่อนเพื่อป้องกันความผิดพลาดและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยทั่วไปแล้วฉลากสารเคมีจะระบุถึงสิ่งต่อไปนี้

  • ชื่อสารเคมี (chemical name)
  • สูตรโมเลกุลหรือสูตรโครงสร้าง (formula weight, formula structure)
  • มวลโมเลกุล (molecular weight- Mr, MT, M.W., F.W.)
  • เกรด (grade- AR, lab, technical)
  • บริษัทผู้ผลิต (company suppliers)
  • ความบริสุทธิ์ (% assay)
  • สิ่งเจือปน (impurities)
  • เลขประจำสารเคมี (catalog number)
  • รหัสแสดงอันตราย (risk phrases) และรหัสความปลอดภัย (safety phrases)
  • ปริมาณสุทธิ
  • สัญลักษณ์แสดงอันตรายและคำเตือน (hazard pictogram)
  • รายการอื่นๆ

ฉลากสารเคมีนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสารเคมีที่ใช้แล้วหรือเก็บไว้นานๆ ฉลากที่ติดข้างขวดอาจที่การหลุดออก หรือเปื่อยยุ่ย เลอะเลือนไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจเป็นระยะๆ เพราะหากไม่ทราบว่าเป็นสารใดแล้วก็จะต้องทำการพิสูจน์หรืออาจจะต้องทิ้งสารนั้นเลย ดังนั้นควรระลึกเสมอว่าก่อนจะใช้สารเคมีใด ผู้ใช้ต้องมีความรู้และถึงข้อความตลอดจนคำเตือนหรือสัญลักษณ์ที่ระบุบนฉลากข้างขวดเสียก่อน ผู้ใช้ควรมีข้อปฏิบัติดังนี้

  1. เมื่อมีการถ่ายเทสารออกจากขวดเดิมจะต้องเขียนชื่อสารเคมี บริษัทผู้ผลิต เกรด อย่างชัดเจนติดบนสารขวดใหม่เพื่อป้องกันการใช้สารเคมีผิดพลาด
  2. ควรมีฐานข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีที่จะใช้นั้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่ออุบัติเหตุ
  3. สารเคมีที่นำกลับมาใช้อีกจะต้องเขียนฉลากให้ชัดเจน
  4. ควรศึกษาและเข้าใจฉลากสารเคมี เพื่อประโยชน์ในการการใช้งานและการป้องกันอันตราย

Link : สารเคมีในห้องปฏิบัติการ..รู้ก่อนใช้

ข้อแนะนำสำหรับการเข้าทำการทดลอง

1) ก่อนทำการทดลอง

  1. นักศึกษาต้องอ่านคู่มือปฏิบัติการมาก่อนทุกครั้งเพื่อทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ หลักการ วิธีการทดลอง วางแผนงานการทดลอง วิธีเตรียมสารละลาย ตลอดจนเทคนิคและข้อควรระวังต่างๆ การเตรียมความพร้อมจะช่วยป้องกันความผิดพลาดและช่วยให้การทดลองเสร็จทันเวลา
  2. สิ่งของจำเป็นที่ต้องเตรียมสำหรับเข้าทำการทดลอง
    • คู่มือปฏิบัติการ สมุดบันทึก เครื่องคิดเลข
    • เสื้อคลุมปฏิบัติการและแว่นตา
    • กระดาษทิชชูและผ้าเช็ดโต๊ะ
  1. นักศึกษาต้องมีสมุดบันทึกวิธีการทดลองอย่างย่อ เป็น Flow chart ออกแบบตารางบันทึกผลการทดลองและผลการทดลองที่สังเกตได้
  2. เมื่อเข้าห้องปฏิบัติการแล้ว
    • ให้นักศึกษาเขียนชื่อเข้าทำปฏิบัติการ
    • ตรวจอุปกรณ์ประจำกลุ่ม (ตู้) ว่าอยู่ในสภาพปกติและครบถ้วนตามใบแจ้งรายการอุปกรณ์หรือไม่ (กรณีไม่ครบหรือสภาพไม่สมบูรณ์ให้แจ้งต่ออาจารย์ควบคุมทราบทันที)
    • แต่ละกลุ่มต้องส่งสรุปวิธีการทดลองก่อนทำการทดลองทุกครั้ง (เขียนในสมุดบันทึกผลหรือกระดาษ A4)
    • นักศึกษาที่ขาด หรือสายเกินเวลา 30 นาที ไม่อนุญาตให้ส่งรายงานการทดลองนั้นๆ เว้นแต่มีเหตุสำคัญหรือจำเป็น แต่ต้องมีการรับรองจากแพทย์ หรือผู้ปกครองหรืออาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งจะพิจารณาให้ทำการทดลองภายหลัง
  1. ก่อนเริ่มทำการทดลองอาจารย์ผู้ควบคุมจะทำการอธิบายรายละเอียดของการทดลอง นักศึกษาต้องมีความสนใจและจดบันทึกเมื่อมีขั้นตอนที่ต่างจากระบุไว้ในคู่มือปฏิบัติการ หรือสิ่งที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันความผิดพลาดและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

2. ขณะทำการทดลอง

  1. นักศึกษาปฏิบัติตามขั้นตอนและคำแนะนำของผู้ควบคุมอย่างเคร่งครัด
  2. นักศึกษาต้องมีความระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อหรือหยอกล้อกัน ไม่ทำการทดลองใดๆ ที่นอกเหนือไปจากการทดลองที่มีไว้ในคู่มือหรือที่ผู้ควบคุมแนะนำเพิ่มเติม
  3. กรณีผลการทดลองผิดปกติจากระบุในคู่มือให้นักศึกษาแจ้งอาจารย์ก่อนทำขั้นตอนต่อไป
  4. ควรเขียนฉลากของเครื่องแก้วหรือสารเคมีเพื่อป้องกันความสับสน หรือใช้สารผิดในการทำการทดลอง

3. หลังการทดลอง

  1. เมื่อทำการทดลองเสร็จเรียบร้อย นักศึกษาต้องทำความสะอาดเครื่องแก้ว อุปกรณ์ และเก็บให้เรียบร้อย พร้อมตรวจเช็คจำนวนถูกต้องตามใบแจ้ง (กรณีไม่ครบเนื่องจากสูญหาย แตกหัก แจ้งอาจารย์ทันที)
  2. ให้ส่งรายงานการทดลอง นักศึกษาต้องส่งรายงานการทดลอง 2 ประเภทคือ
    • ประเภทรายงานสั้น (short report) คือผลการทดลองและสิ่งที่ได้จากการทดลองนั้นๆ เช่น การคำนวณ กราฟ  ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ให้ส่งหลังการทดลองทุกครั้ง
    • ประเภทรายงานสมบูรณ์ (full report) รายงานที่จัดทำเป็นรูปแบบ ซึ่งอาจกำหนดเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม ให้ส่งแบบออนไลน์ก่อนวันทำการทดลองถัดไป
  3. การเขียนรายงานการทดลองควรกระชับและมีรายละเอียดครอบคลุมการทดลองนั้น แสดงผลการทดลอง อภิปรายผลการทดลองว่ามีความสอดคล้องกับทฤษฎีหรือไม่ อย่างไร สามารถระบุสาเหตุความคลาดเคลื่อนได้

อุปกรณ์และสารเคมี

วิธีการทดลอง