การทดลองที่ 10 จลนศาสตร์เคมีของปฏิกิริยาระหว่างโพแทสเซียมไดโครเมตกับเอทานอล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ
ปรับปรุงล่าสุด: 23 พฤษภาคม 2563
[Lab Menu]

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาจลนศาสตร์ของปฏิกิริยาระหว่างโพแทสเซียมไดโครเมตกับเอทานอล
  2. เพื่อหาอันดับ ค่าคงที่อัตราและค่าครึ่งชีวิตของปฏิกิริยา

หลักการ

จลนศาสตร์เคมีเป็นการศึกษาถึงอัตราเร็วของการเกิดปฏิกิริยา (rate reaction) และกลไกการเกิดปฏิกิริยา อัตราการเกิดปฏิกิริยาจะมายถึงการหายไปของสารตั้งต้นหรือการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในช่วงเวลาหนึ่งๆ  จะเป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของสารตั้งต้นหรือสารที่เข้าทำปฏิกิริยากัน หรือสารผลิตภัณฑ์ในหนึ่งหน่วยเวลา โดยความเข้มข้นของสารตั้งต้นจะค่อย ๆ ลดลงไปในขณะที่ความเข้มข้นของสารผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นในการวัดอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี   พิจารณาจากความเข้มข้นของสารตั้งต้นที่ลดลงหรือพิจารณาจากความเข้มข้นของสารผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจะได้ว่าเนื่องจากอัตราการเกิดปฏิกิริยาในแต่ละช่วงเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นในการหาอัตราปฏิกิริยาที่ระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในระหว่างการเกิดปฏิกิริยานั้นสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของสารตั้งต้นหรือสารผลิตภัณฑ์ในช่วงเวลาที่กำหนดหรือหาได้จากความชันของเส้นกราฟของปฏิกิริยา ณ จุดที่สัมผัส

พิจารณาปฏิกิริยาเคมีทั่วไป aA + bB  ↔  cC + dD สามารถเขียนสมการทางคณิตศาสตร์ของอัตราการเกิดปฏิกิริยาได้ เมื่อ a b c และ d เป็นจำนวนโมลของสาร A, B, C และ D ตามลำดับ

การเขียนกฎอัตราดิฟเฟอเรนเชียลนั้น เขียนเป็นผลคูณของความเข้มข้นที่ยกกำลัง อย่างเช่น ปฏิกิริยา

A + 2B  ↔  3C + D

จะเขียนได้ว่า     rate = k[A]m[B]n

จากสมการ n และ m เป็นอันดับของปฏิกิริยาของสาร A และ B ตามลําดับ k เป็นค่าคงตัวอัตรา (rate constant) และอันดับของปฏิกิริยารวม (overall reaction order) จะเท่ากับ n+m ค่าของ n และ m นั้นหาได้จากการทดลอง  อันดับของปฏิกิริยาจะเป็นเลขจำนวนเต็ม (1, 2, 3)

ค่าครึ่งชีวิตของปฏิกิริยา

ค่าครึ่งชีวิตของปฏิกิริยา (t1/2) หมายถึง เวลาที่ใช้ในการทำให้ความเข้มข้นของสารตั้งต้นลดลงไปครึ่งหนึ่งจากเริ่มต้น

ค่าอันดับของปฏิกิริยา ค่าคงที่อัตราการเกิดปฏิกิริยาและค่าครึ่งชีวิตของปฏิกิริยา สามารถหาได้จากกราฟ ความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นกับเวลาที่เป็นเส้นตรง ดังตาราง

ตารางที่ 10.1 ความสัมพันธ์เส้นตรงของความเข้มข้น [A] กับเวลา (t)

อันดับ สมการเส้นตรง เขียนกราฟเส้นตรง ค่าครึ่งชีวิต (t1/2)
0 [A] = [A]0 – kt [A] กับ t t1/2 = [A]0/2K
1 log [A] = log [A]0 – (kt/2.303) log [A] กับ t t1/2 = 0.693/K
2 1/[A]0 = 1/A]0 + kt 1/[A] กับ t  t1/2 = 1/[A]0K

เมื่อ   [A]0 = ความเข้มข้นเริ่มต้นของ A

[A] = ความเข้มข้นของ A ที่เวลา t

ในการทดลองนี้เป็นปฏิกิริยาระหว่างโพแทสเซียมไดโครเมต (K2Cr2O7) กับเอทานอล (C2H5OH) ในสภาวะที่เป็นกรด ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเขียนได้ดังนี้

2Cr2O72- + 28H+ + 12e  ↔  4Cr3+ + 14H2O

3C2H5OH + 3H2O ↔ 3CH3COOH + 12H+ + 12e

2Cr2O72- + 3C2H5OH + 16H+  ↔ 4Cr3+ + 3CH3COOH + 11H2O

จากสมการสามารถเขียนสมการอัตรา (rate equation) ได้เป็น

rate = k[Cr2O72-]m[C2H5OH]n[H+]o

ดังนั้น อันดับปฏิกิริยารวมเท่ากับ m+n+o แต่ถ้าในการทดลองให้ความเข้มข้นของกรดและเอทานอลมีค่าสูงกว่าความเข้มข้นของสารละลายโพแทสเซียมไดโครเมตมาก ๆ จนถือได้ว่าในขณะเกิดปฏิกิริยานั้นความเข้มข้นของกรดและเอทานอลไม่เปลี่ยนแปลง สมการ 10.4 สามารถเขียนได้ใหม่เป็น

rate = k’[Cr2O72-]m

เมื่อ      k’ = k[C2H5OH]b[H+]c

ในการวัดอัตราการเกิดปฏิกิริยาในการทดลองนี้ จะกระทำโดยหาความเข้มข้นของสารละลาย K2Cr2O7 ที่เหลืออยู่ในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยการเติมสารละลาย KI ลงไปหยุดปฏิกิริยาระหว่าง K2Cr2O7 กับ C2H5OH ปฏิกิริยาระหว่าง KI กับ K2Cr2O7 เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

Cr2O72- + 14H+ +  6I  ↔   2Cr3+ +  3I2 + 7H2O

แดงส้ม                             เขียวอ่อน    น้ำตาล

จากนั้นไทเทรตหาปริมาณ I2 ที่เกิดขึ้นด้วยสารละลายมาตรฐานโซเดียมไทโอซัลเฟต (Na2S2O3) โดยมีน้ำแป้งเป็นอินดิเคเตอร์ ดังสมการ

I2 + 2S2O32-   ↔   2I + S4O62-

จากปริมาณสารละลาย Na2S2O3 ที่ใช้ไป สามารถคำนวณกลับไปหาปริมาณของ Cr2O72- ที่เหลืออยู่ในสารละลาย ณ เวลาต่าง ๆ

อุปกรณ์และสารเคมี

อุปกรณ์

  1. บิวเรต ขนาด 50 mL
  2. ปิเปต ขนาด 10 mL
  3. กระบอกตวง
  4. นาฬิกาจับเวลา
  5. อ่างน้ำร้อน
  6. เทอร์โมมิเตอร์

สารเคมี

  1. สารละลาย KI 3%w/v
  2. สารละลาย C2H5OH 95%w/v
  3. สารละลาย K2Cr2O7 0.10 mol/L ใน H2SO4 1.0 mol/L
  4. สารละลาย Na2S2O3 0.10 mol/L
  5. น้ำแป้ง 2%w/v

วิธีการทดลอง

ตอนที่ 1 การหาอันดับของปฏิกิริยาระหว่างโพแทสเซียมไดโครเมตกับเอทานอล

  1. ตวงสารละลาย K2Cr2O7 10 mL (ใช้กระบอกตวง) ใส่ลงในบีกเกอร์ 100 mL ที่บรรจุน้ำกลั่นอยู่ 5 mL วัดอุณหภูมิของสารละลาย
  2. เตรียมบีกเกอร์ 10 ใบ แต่ละใบให้เติมสารละลาย KI 5 mL
  3. เติมเอทานอล 2 mL (40 หยด) ใส่ลงในสารละลาย K2Cr2O7 (ข้อ 1) พร้อมทั้งเริ่มจับเวลาทันที ทำการเขย่าขวดเบา ๆ ตลอดเวลา
  4. เมื่อเวลาผ่านไป 20 นาที ใช้ปิเปตนำสารละลายมา 1.0 mL (20 หยด) ใส่ลงในบีกเกอร์ (ข้อ 2) บันทึกเวลาที่แน่นอน (เวลา ณ ตำแหน่งที่ปล่อยสารละลายลงไปได้ประมาณครึ่งหนึ่ง แต่อย่าหยุดปล่อยสาร ให้ปล่อยสารลงไปจนหมด) ลงในสมุดบันทึก
  5. หยดสารละลายมาตรฐาน Na2S2O3 ลงทีละหยด ให้นับจำนวนหยดด้วย (สำคัญมาก) จนกระทั่งสารละลายเปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลเป็นสีเหลืองอ่อน แล้วจึงเติมน้ำแป้ง 1-2 หยด เขย่าแล้วหยดสารละลาย Na2S2O3 ต่อจนกระทั่งสารละลายเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นไม่มีสี ให้นับจำนวนหยดรวมกัน
  6. จากนั้นทุก ๆ 2 นาทีผ่านไปให้ทำเช่นเดียวกับข้อ 4 โดยทำการทดลองประมาณ 8-10 ครั้ง ทุกครั้งจะต้องจดเวลาที่แน่นอนไว้ด้วยเสมอ

ตอนที่ 2 การทดลองผลของอุณหภูมิที่มีต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยา

ทำการทดลองเช่นเดียวกับข้อ 5 ทุกประการ แต่ให้ควบคุมอุณหภูมิในขณะทดลองให้สูงกว่าอุณหภูมิห้องประมาณ 10°C (นักศึกษาต้องรู้อุณหภูมิที่แน่นอนว่ากระทำที่อุณหภูมิใด) โดยการจุ่มที่ขวดที่มีสารละลาย K2Cr2O7 ลงในอ่างน้ำร้อนจนได้อุณหภูมิที่ต้องการ แล้วค่อยเติมเอทานอลลงไป พร้อมเริ่มจับเวลาทันที ทุกๆ 1-2 นาที ให้ปิเปตสารละลายไปทดลอง หาปริมาณ K2Cr2O7 ที่เหลือ ในขณะทดลองถ้าหากอุณหภูมิของสารละลายผสมลดต่ำลงก็ให้นำไปจุ่มอ่างน้ำร้อนจนถึงอุณหภูมิที่ต้องการอีก แล้วยกออก ทำการควบคุมอุณหภูมิเช่นนี้เรื่อยไป จนเสร็จสิ้นการทดลอง