เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร(มทร.พระนคร) โดย ดร.จิระศักดิ์ ธาระจักร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้ ดร.ไพศาล การถาง รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน เป็นผู้แทนให้การต้อนรับ คณะที่ปรึกษาเจ้าชายเต็งกู อาบูบาการ์ จากประเทศมาเลเซีย : DSM OFFICIAL Dato’ Sri Megat D. Shahriman Bin Dato’ Zaharudin ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านกัญชาทางการแพทย์ ตลอดจนพื้นที่ปลูกกัญชามาตรฐานทางการแพทย์และWHO-GACP ทั้งการปลูกกัญชาทางการแพทย์ระบบปิด (Indoor) การปลูกกัญชาทางการแพทย์ระบบ Greenhouse และการปลูกกัญชาทางการแพทย์ระบบเปิด (Outdoor) รวมถึงการเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับระบบมาตรฐานในระดับสากล อาทิ ASTM: Practice for Good Medicinal Cannabis Cultivation (GMCCP)
ในการนี้ ดร.ไพศาล การถาง รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน ได้บรรยายการดำเนินงานด้านกัญชาทางการแพทย์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ เพื่อใช้ประโยชน์กัญชาในทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เชิงบูรณาการ และได้พาเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานกัญชาและพืชเสพติดทางการแพทย์ (CATSS Medical Cannabis and Narcotic plants) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท เอพิโซด วัน จำกัด และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมกับ National Institute of Standards and Technology (NIST) United States Department of Commerce ดำเนินการทดสอบความชํานาญ หรือ Proficiency Testing (PT) สำหรับผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชาเพื่อพัฒนาเกณฑ์วิธีและระดับมาตรฐาน นอกจากนี้ ศูนย์ดังกล่าว ได้ดำเนินการขอการรับรองมาตรฐาน ISO17025 จาก American Association for Laboratory Accreditation (A2LA) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานกัญชาและพืชเสพติดทางการแพทย์ ผ่านการรับรองมาตรฐาน จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงการพัฒนาและรับรอง คุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตและผลิตภาพจากพืชกัญชา ได้
นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการจัดแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยพืชกัญชา อาทิ CBD Isolate, CBD nanoemulsion ต้นแบบผลิตภัณฑ์งานวิจัย Immune Booster ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาหม่องน้ำราชพฤกษ์สุคนธ์ ตลอดจนสายพันธุ์กัญชาที่ถูกปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ อาทิ สายพันธุ์อินทนิล1 สายพันธุ์อินทนิล2 สายพันธุ์WT1 สายพันธุ์MHKxKD สายพันธุ์THCV และ สายพันธุ์TNT เป็นต้น ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร มีแผนที่จะส่งมอบ สายพันธุ์TNT และสายพันธุ์THCV ที่ให้ผลผลิตที่ดีทั้งในระบบการปลูกแบบโรงเรือนระบบปิด (Indoor) และ ระบบการปลูกแบบแปลงปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) เพื่อมอบเป็นสมบัติของชาติ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชนโดยเฉพาะเกษตรกร ตลอดจนประโยชน์ต่อมิติของเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป