ดร.จิระศักดิ์ ธาระจักร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดโครงการวิพากษ์หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอาง และการชะลอวัย (หลักสูตรใหม่ 2566) ในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ภิรมย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์พระนครเหนือ)
การวิพากษ์หลักสูตรครั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้เป็นหลักสูตรที่สามารถผลิตบัณฑิตรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน สถานประกอบการ อุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของสังคมผู้สูงวัยในประเทศไทย สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (New S-Curve) ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยและจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร 15 ปี (2560-2574) ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและอาเซียน เพื่อให้ได้มาซึ่งบัณฑิตที่มีความรู้ มีทักษะ มีสมรรถนะตามมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตและความต้องการของกำลังคนตามยุทธศาสตร์ชาติ “บัณฑิตคิดเป็นระบบ ปฏิบัติเป็นเลิศ มีอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และเป็นที่พึ่งของสังคม” โดยการวิพากษ์หลักสูตรครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากกรรมการผู้ทรงวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข, ศาสตราจารย์ ดร.รัศมีดารา หุ่นสวัสดิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.วีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.สกันท์ วารินหอมหวน สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงแห่งประเทศไทย, นายวุฒิกร เสมาพิทักษ์ ประธานกรรมการ บริษัทฟิกเซอร์ ซิสเทม (ประเทศไทย) จำกัด, นายบุรินทร์ อมรพิชิต กรรมการผู้จัดการ บมจ.บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO), นายเปรมวิทย์ จีรเวฬุโรจน์ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอาง และการชะลอวัย เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาภายใน 7 ภาคการศึกษา (3.5 ปี) มีจุดเด่นด้านวิชาการที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาให้บัณฑิตมีความเชี่ยวชาญศาสตร์แห่งสุขภาพ เครื่องสำอาง และการชะลอวัย และเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติอย่างมืออาชีพตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ได้บูรณาการศาสตร์ทางสุมนไพรไทยสำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอาง และการชะลอวัย โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเครือข่ายความร่วมมือมีความพร้อมในการพัฒนาวิชาการ องค์ความรู้ด้านกัญชา มีพื้นที่ปลูกกัญชามาตราฐานทางการแพทย์และ WHO-GACP และศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานกัญชาและพืชเสพติดทางการแพทย์ ที่ให้บริการการทดสอบสารแคนนาบินอยด์ (CBC, CBD, CBDa, CBG, CBN, THC, THCa, THCv) สารเทอร์พีน (Terpenes) สารกำจัดศัตรูพืช (Pesticides) ตัวทำละลายตกค้าง (Residual solvents) และโลหะหนัก (Heavy metals) เป็นต้น
ซึ่งหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เครื่องสำอาง และการชะลอวัย (หลักสูตรใหม่ 2566 มีแผนเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2566