ข่าว

คณะวิทย์ มทร.พระนคร เปิดบ้านต้อนรับคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพและติดตามการบังคับใช้กฏหมายด้านการสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) โดยดร.จิระศักดิ์ ธาระจักร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้การต้อนรับคุณศุภชัย ใจสมุทร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง  (ฉบับที่…) พ.ศ. …  คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข  สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพและติดตามการบังคับใช้กฏหมายด้านการสาธารณสุข โดยมี พลเอก อํานาจ สมประสงค์ นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยผู้แทนกรมการแพทย์ เข้าร่วมศึกษาดูงานด้านกัญชาทางการแพทย์ ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร

ในการนี้ มีบรรยายพิเศษสรุปการดำเนินงานด้านกัญชาทางการแพทย์โดย ดร.ไพศาล  การถาง รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน โดยมีการเสนอแนวทางในเชิงสาระสำคัญ ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ เพื่อใช้ประโยชน์กัญชาในทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เชิงบูรณาการ ภายใต้กรอบแนวคิด “พืชกัญชาคือนวัตกรรม” ซึ่งสามารถครอบคลุมตั้งแต่ Agri-Tech, Health-Tech ตลอดจน Medical Hub นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนวทาง การปลูกและการเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงกับมาตรฐานในระดับสากลที่มีการยอมรับ อาทิเช่น มาตรฐาน WHO-GACP  EU-GACP หรือ ASTM: Practice for Good Medicinal Cannabis Cultivation (GMCCP) นอกจากนี้ สำหรับการกำกับดูแลคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตและผลิตภาพพืชกัญชาด้วยมาตรฐาน ISO17025 เพื่อรองรับและสอดคล้องกับ ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (WTO Agreement on Technical Barriers to Trade) ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญ หากประเทศไทยจะเดินหน้า ในการส่งออกผลผลิตและผลิตภัณฑ์สู่ต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการก่อมาตรการเชิงระบบเพื่อป้องกันการนำเข้าผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวโน้มของอุตสาหกรรมพืชกัญชาในตลาดโลกจะพบว่า ตลาดช่อดอก มีขนาดใหญ่กว่า ตลาดของสารสกัดและสารเดี่ยว อาทิเช่น CBD โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่สถานการณ์ COVID-19 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมพืชกัญชามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลจาก MJBizDaily และ Statistics Canada)

นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการจัดแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยพืชกัญชา อาทิ CBD Isolate, CBD nanoemulsion  ต้นแบบผลิตภัณฑ์งานวิจัย Immune Booster  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาหม่องน้ำราชพฤกษ์สุคนธ์ ตลอดจนสายพันธุ์กัญชาที่ถูกปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ อาทิ สายพันธุ์อินทนิล1 สายพันธุ์อินทนิล2 สายพันธุ์WT1 สายพันธุ์MHKxKD สายพันธุ์THCV และ สายพันธุ์TNT เป็นต้น ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มทร.พระนคร มีแผนที่จะส่งมอบ สายพันธุ์TNT ที่ให้ผลผลิตที่ดีทั้งในระบบการปลูกแบบโรงเรือนระบบปิด (Indoor) และ ระบบการปลูกแบบแปลงปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) เพื่อมอบเป็นสมบัติของชาติ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชนโดยเฉพาะเกษตรกร ตลอดจนประโยชน์ต่อมิติของเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป

อนึ่ง ดร.จิระศักดิ์ ธาระจักร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พาคุณศุภชัย ใจสมุทร พร้อมคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข  สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพและติดตามการบังคับใช้กฏหมายด้านการสาธารณสุข ตลอดจน พลเอก อํานาจ สมประสงค์ นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยผู้แทนกรมการแพทย์และผู้เข้าร่วมศึกษาดูงาน เข้าเยี่ยมชม พื้นที่ปลูกกัญชามาตรฐานทางการแพทย์(Medical Grade)และWHO-GACP รวมถึงพื้นที่ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานกัญชาและพืชเสพติดทางการแพทย์ (CATSS Medical Cannabis and Narcotic plants) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท เอพิโซด วัน จำกัด และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมกับ National Institute of Standards and Technology (NIST) United States Department of Commerce ดำเนินการทดสอบความชํานาญ หรือ Proficiency Testing (PT) สำหรับผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชาเพื่อพัฒนาเกณฑ์วิธีและระดับมาตรฐาน นอกจากนี้ ศูนย์ดังกล่าว ได้ดำเนินการขอการรับรองมาตรฐาน ISO17025 จาก American Association for Laboratory Accreditation (A2LA) เมื่อวันที่ 19  ตุลาคม 2565  ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานกัญชาและพืชเสพติดทางการแพทย์ ผ่านการรับรองมาตรฐาน จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงการพัฒนาและรับรอง คุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตและผลิตภาพจากพืชกัญชาได้

Loading